ศูนย์รวมสถานพยาบาล กับสร้างสุข สุขที่คุณเลือกได้
Drop Down MenusCSS Drop Down MenuPure CSS Dropdown Menu

วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อาการเพลียของวัยทำงาน 'Social Jetlag'


             
              สำหรับมนุษย์เงินเดือนคงเข้าใจอาการง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำงานเป็นอย่างดี ซึ่งบางทีเราก็คิดว่าตัวเองพักผ่อนเต็มที่แล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกง่วงอีก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาการนี้ออกมาแล้ว 

                                     

              
         โดยการรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลาที่ทำงาน เหมือนมีอาการเพลียตลอดทั้งวัน ลักษณะนี้คุ้น ๆ กับอาการ Social Jet lag ที่วัยทำงานส่วนใหญ่กำลังเป็นอยู่ หลายคนอาจรู้จักอาการ Jet lag ว่าเป็นอาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นหลังการเดินทางข้ามโซนเวลาที่ต่างกันมาก ๆ ซึ่งนาฬิกาในร่างกายอาจปรับตัวตามไม่ทัน แต่แม้จะไม่ได้เดินทางข้ามซีกโลกไปไหน อาการ Jet lag ก็เกิดขึ้นกับคนวัยทำงานได้ โดยที่ทางการแพทย์เรียกอาการง่วงเพลียตลอดทั้งวันนี้ว่า Social Jet lag

          ภาวะ Social Jet lag ถูกระบุขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2006 โดยเป็นการศึกษาวิจัยจากสถาบันจิตวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้อธิบายภาวะนี้ว่า Social Jet lag เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนเรื้อรังเนื่องจากการนอนและตื่นผิดเวลาในช่วงวันหยุด

             ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ วัยทำงานส่วนใหญ่มักจะมีตารางเวลาตื่น เวลาทำงาน และเวลาเข้านอนที่เป็นแพทเทิร์นเดิม ๆ อยู่แล้ว แต่ในคืนวันศุกร์หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มักจะใช้เวลาในค่ำคืนยาวนานกว่าปกติ นอนดึกขึ้น ปาร์ตี้คลายเครียดจนเกือบเช้า หรือแม้กระทั่งการนอนยาว ๆ ในวันหยุดพักผ่อน ซึ่งรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบนี้ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตของร่างกายแปรปรวนหนักมาก คล้ายกับการเดินทางข้ามผ่านโซนเวลาแบบซ้ำไปซ้ำมา และมันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้มากกว่าที่คิด

          โดยระดับเบา ภาวะ Social Jet lag หรือการใช้ชีวิตสวนทางกับนาฬิกาชีวิตแบบนอนดึก ตื่นสาย อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังตามมาในเช้าวันทำงาน และอาจลากยาวให้รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลียขณะทำงานได้ทั้งสัปดาห์ นอกจากนี้ Till Roenneberg นักวิจัยจากสถาบันจิตวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิก ยังเผยด้วยว่า ผู้ที่มีภาวะ Social Jet lag จะเสี่ยงต่อโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 33% เนื่องจากความอ่อนเพลียจะลดแรงจูงใจในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย และยังอาจทำให้รู้สึกอยากดูแลตัวเองลดลงด้วย ซึ่งการดูแลตัวเองในที่นี้ก็หมายถึงการเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพอะไรแนว ๆ นั้นค่ะ

            แต่ที่หนักไปกว่านั้น Roenneberg ยังเผยว่า ยิ่งเราใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อภาวะ Social Jet lag มากเท่าไร ร่างกายจะยิ่งต้องการบุหรี่ (ในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว) แอลกอฮอล์ (ในคนที่ดื่มอยู่แล้ว) และคาเฟอีนมากขึ้น ซึ่งก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และที่สำคัญ การที่รู้สึกง่วงเพลียตลอดทั้งวันยังจะลดประสิทธิภาพการทำงานของเราอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ภาวะ Social Jet lag ก็ป้องกันและรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเราเองค่ะ โดยสถาบันเวชศาสตร์การนอนแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine) แนะนำว่า เราควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้ 7 ชั่วโมงในทุกวัน และพยายามเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันเป็นประจำ เพื่อเซตนาฬิกาชีวิตให้กลับสู่โหมดปกตินั่นเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
webmd
popsugar
Reader’s digest

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น